ชีวประวัติคุณพ่อเรย์
ชีวประวัติคุณพ่อเรย์
ประวัติย่อ ของ บาทหลวงเรย์มอนด์ อัลลีน เบรนนัน หรือ คุณพ่อเรย์มอนล์ แอลลีน เบร็นนัน ชายผู้ยิ้มเสมอ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “พ่อเรย์” เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายไอริซ เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 3 คน พี่ชายท่านเป็นพระสงฆ์ชื่อ บาทหลวง ดอน เบร็นนัน ส่วนน้องสาวแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ชื่อ ชาร์รอน เบร็นนัน พาร์เทล ทั้งพี่ชายและน้องสาวอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ท่านเกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) ที่ชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองที่ท่านและครอบครัวอาศัยอยู่ เป็นแหล่งความเจริญทางด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ชีวิตในวัยเด็กของท่านอยู่ในบรรยากาศของครอบครัวคาทอลิกที่เคร่งครัด ท่านสนใจศึกษาในเรื่องของศาสนา และปรัชญา
บาทหลวง ดอน (พี่ชาย) เล่าว่า ท่านใฝ่ฝัน และมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่เมื่อเติบโตขึ้นจะทำงานเพื่อช่วยเหลือคนยากจน ผู้ยากไร้และขาดที่พึ่ง
วันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ.1954 (พ.ศ.2497) ท่านได้ตัดสินใจ เข้าบ้านเณรของคณะพระมหาไถ่ โดยได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากจากคณะพระมหาไถ่ และจากความเชื่อความศรัทธา ที่ได้รับการหล่อหลอมปลูกฝังจากครอบครัว
จากกระแสเรียกที่เกิดขึ้นนั้นไม่น่าสงสัยเลยว่าพระเป็นเจ้าได้ทรงมีแผนการจัดเตรียมท่านมาเป็นมิชชั่นนารีในประเทศไทย ท่านได้ดำเนินชีวิตสามเณรในสามเณราลัยใหญ่ ที่เคริกวู๊ด มลรัฐมิซูรี่ ผู้ดูแลระเบียบของสามเณรคุมเข้มความคิดอันเป็นอิสระของท่าน อย่างไรก็ตาม ท่านมีความนอบน้อมต่อผู้ใหญ่เสมอ ผู้ใหญ่ที่ดูแลรู้จักทั้งข้อดีข้อเสียของท่านเป็นอย่างดี อีกทั้งยังแนะนำให้ท่านได้ดำเนินชีวิตเข้าสู่ฐานะอันสมบูรณ์แบบของชีวิตนักบวช พระสงฆ์ 2 ท่านที่ได้ช่วยส่งเสริมสนับสนุนนำทางท่านในช่วงปีแห่งการศึกษาพระคัมภีร์ คือ บาทหลวง โจ พาวเวอร์ โดยเป็นพระสงฆ์พี่เลี้ยง ต่อมาได้กลายเป็นเพื่อนแท้และชื่นชมในตัวของท่านมาก พระสงฆ์ท่านที่ 2 คือ บาทหลวง เกริกส์ ลาเฮห์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่แสนดี ที่โอโคโนโมวอด
จากนั้นอีก 1 ปี ในขั้นโววิส และขั้นก่อนเป็นพระสงฆ์ ที่เดอโซโต้ มลรัฐมิซูรี่ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดในชีวิตของท่าน เช่นเดียวกับนักบวชท่านอื่น ๆ ของคณะพระมหาไถ่ ในที่สุดก็เข้าระดับการศึกษาตรรกศาสตร์ และจิตวิทยา ตลอดจนการฝึกอบรมอย่างหนักเป็นเวลา 6 ปี ที่ โอโคโนโมวอค มลรัฐวินคอนซิล และช่วงฝึกอีก 6 เดือน ที่เซนต์หลุยส์ มลรัฐมิซูรี่ และได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ สังกัดคณะพระมหาไถ่ ในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1959 (พ.ศ.2502)
ก่อนที่ท่านจะได้รับการส่งตัวไปปฎิบัติ หน้าที่แรก คืองานมิชชั่นนารีในประเทศไทยที่ห่างไกลจากบ้านนั้น ท่านได้มีโอกาสกลับบ้านเพื่อบอกข่าวที่ท่านถูกส่งตัวไปเป็นมิชชั่นนารีในต่างประเทศ ให้กับครอบครัวได้ทราบ คำกล่าวของคุณแม่ของท่านได้ทำความประหลาดใจให้แก่ท่านเป็นอย่างมาก เพราะแทนที่คุณแม่ของท่านจะเศร้าโศกเสียใจ ตามที่ท่านคาดคิดว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น แต่คุณแม่ของท่านเพียงแต่พูดกับท่านว่า “แม่ทราบดีว่า พระเจ้าทรงมีพระประสงค์เช่นนั้น..ลูกเป็นเด็กคนเดียวในครอบครัวที่ชอบกินข้าว”
ปี ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) ท่านได้เดินทางมาประเทศไทย และได้รับมอบหมายงานครั้งแรกในภาคอีสาน ซึ่งประเทศไทยในเวลานั้นเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกสภาพความเป็นอยู่ทั่วไปของประชาชนมีความยากไร้การคมนาคมไม่สะดวก สภาพปัญหาด้านสาธารณสุข ขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตภาคอีสานการปกครองอยู่ภายใต้การนำของทหาร และมีความตึงเครียดตามเขตชายแดน อันเนื่องมาจากสงคราม
พื้นที่ภาคอีสานซึ่งเป็นเขตพื้นที่สีชมพู ภารกิจที่ท่านได้รับคือ การช่วยเหลือผู้อพยพชาวกัมพูชา พม่า และเวียดนาม ทำให้ท่านต้องเรียนรู้ภาษาไทย ภาษาลาว และภาษาอื่นๆ เพื่อใช้ในการติดต่อพูดคุยกับคนเหล่านั้น ท่านต้องทำงานอย่างหนักร่วมกับทหารสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และชาวบ้านผู้ยากจน
ครั้งหนึ่งท่านได้เล่าประสบการณ์ในชีวิตของท่านช่วงนั้นบนความเชื่อ และความศรัทธา แม้จะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับความคิดของท่านเอง มีบริเวณแห่งหนึ่งทางภาคอีสานซึ่งกำลังประสบกับความยากลำบากแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ ชาวบ้านคริสตชนต่างมาขอให้ท่านได้อธิษฐานภาวนาขอฝน ท่านได้นำบรรดาชาวบ้านคริสตชนเข้าไปอธิษฐานภาวนาในโบสถ์ที่ถูกสร้างขึ้นมา ท่านนำพวกเขาเดินมาตามโบสถ์ จนออกมานอกบริเวณตัวอาคาร และเดนไปรอบๆ ตัวโบสถ์ ขณะที่ทุกคนกำลังเดินตามท่านนั้น “ฝนก็เริ่มตกลงมา”
นอกจากนั้นท่านได้เป็นผู้ริเริ่มโครงการ “ธนาคารข้าว” สำหรับชาวนาผู้ยากจน ที่ซึ่งพวกเขาสามารถนำผลผลิตหลังจากเก็บเกี่ยวเข้ามาจำนำ และนำเงินออกมาใช้ก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด ทำให้ชาวนาสามารถขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น และท่านยังได้ริเริ่มให้มีโครงการ “ไหมไทย” โดยให้การสนับสนุนชาวบ้านปลูกต้นหม่อนเพื่อเลี้ยงตัวไหม จนทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมาประสบการณ์ชีวิตของท่าน 10 ปี ในเขตภาคอีสาน นับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแห่งการสานต่องานไถ่กู้ของพระองค์ แก่ผู้ยากจน
ปี ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) ท่านได้รับการขอร้องให้ไปช่วยงานที่วัดเซนต์นิโคลัส พัทยา เป็นการชั่วคราว และเช้าวันหนึ่งเมื่อท่านเปิดประตูโบสถ์ก็พบว่า มีเด็กแบเบาะถูกทิ้งไว้ที่หน้าบันได ท่านไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร จึงเลี้ยงดูเด็กไว้ โดยถามเพื่อนๆ ว่า “จะให้นมอย่างไร เปลี่ยนผ้าอ้อมอย่างไร” ข่าวการเลี้ยงดูเด็กได้แพร่กระจายออกไป ทำให้มีคนนำเด็กมามอบให้ท่านมากขึ้น ซึ่งส่วนมากเป็นผลมาจากการเข้ามาตั้งฐานทัพของทหารสหรัฐที่สัตหีบ ในระหว่างสงครามเวียตนาม พัทยาได้กลายเป็นแหล่งที่นิยมของทหารอเมริกัน จี.ไอ. ผู้ซึ่งเดินทางมาพักผ่อนและคลายเครียด
ในที่สุด ท่านก็ได้ตั้งสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือ มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก พัทยา ที่ได้ทำการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิสงเคราะห์เด็ก พัทยา ภายใต้การดูแลของสังฆมณฑลจันทบุรี
ครั้งหนึ่งท่านเล่าว่า ช่วงเริ่มต้นใหม่ๆ ท่านต้องขับรถไปเก็บเงินจากกล่องรับบริจาคที่วางไว้ตามโรงแรมต่าง ๆ ทุกวัน ทั้งเช้าและเย็น ก่อนที่จะกลับถึงบ้าน ก็จะแวะซื้อนมและของใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ ท่านทำเช่นนี้เป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน จนกว่าที่จะมีทุนเพียงพอขยายงานได้ และหลายต่อหลายครั้งที่ท่านจะต้องเดินทางเพื่อกล่าวสุนทรพจน์นั่งตอบจดหมาย ต้อนรับแขกในห้องทำงานเล็กๆ สิ่งเหล่านี้เป็นภารกิจประจำวัน ตลอดชีวิตของท่าน ท่านดีใจมากเมื่อมีคนมาเยี่ยม และได้ช่วยเหลือลูกๆ ของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ.1995 (พ.ศ.2538) สมเด็จพระราชินีฟาบิโอลา แห่งเบลเยียม พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเสด็จมาเยี่ยมชมกิจการของมูลนิธิฯ ทำให้ท่านเบิกบานใจและมีกำลังใจขึ้นอีกมาก
มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก พัทยา เป็นโครงการแรกและทำให้ท่านได้เป็นที่รู้จักและเชื่อถือจากทั่วโลก โดยเป็นโครงการจุดประกายการได้รับเงินทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และเป็นโครงการนำร่องโดยการขยายโครงการอื่น ๆ ตามมาคือ
โรงเรียนอนุบาลโสตพัฒนา (เด็กหูหนวก เด็กใบ้)
โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา (สอนอาชีพคนพิการ)
โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่ พัทยา
บ้านพักคนชรา พระมหาไถ่
บ้านเด็กด้อยโอกาส พระมหาไถ่ (โครงการสุดท้ายในชีวิตของท่าน)
“คุณพ่อเรย์” ท่านเป็นบุคคลที่มีอารมณ์ขันเสมอ ท่านเคยกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ และอารมณ์ขันว่า “พ่อเปิดโรงเรียนสอนคนหูหนวก ก็มีครูเป็นคนหูหนวก พ่อมีคนตาบอดเป็นครูใหญ่โรงเรียนสอนคนตาบอด พ่อมีคนพิการนั่งเก้าอี้ล้อเข็น เป็นครูใหญ่โรงเรียนฝึกอาชีพคนพิการ นอกจากนี้ท่านเคยใฝ่ฝันอยากจะเปิดโรงเรียนสำหรับคนปัญญาอ่อน ท่านบอกว่า พ่อจะเป็นครูใหญ่เอง” วิสัยทัศน์และความรักของท่านมีความกว้างไกลและทันยุคทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ท่านเป็นผู้ที่มองไปข้างหน้าเสมอ ท่านรักต้นไม้ รักธรรมชาติมาก ทุกพื้นที่ท่านต้องการให้มีความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญ คือ ท่านจะคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่นเสมอ ชีวิตของท่านเป็นชีวิตที่สมถะ เรียบง่าย ท่านทำทุกอย่างโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ท่านทำงานโดยไม่มีวันหยุด บางวันท่านทดลองนับคนที่เข้ามาพบท่านมีจำนวน 40 ถึง 50 คนต่อวัน ท่านมีเวลาให้กับทุกคนเสมอไม่ว่าบุคคลนั้น ๆ จะเป็นใครก็ตาม
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2546 ท่านต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล พัทยา อินเตอร์ ประมาณ 1 เดือน ท่านยังเข้มแข็ง สติปัญญา และความนึกคิดของท่านสมบูรณ์ทุกประการ ยกเว้นแต่กำลังขาที่เริ่มอ่อนแรงลง พร้อมด้วยระบบการย่อยอาหาร และการขับถ่ายที่เริ่มไม่ปกติ
วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2546 ท่านไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กรุงเทพฯ ซึ่งท่านยังพูดคุยได้กับทุกๆ คน แต่ท่านรู้สึกอ่อนเพลีย ท่านไม่บ่นเจ็บปวดใดๆ ทั้งสิ้น แต่มีบางคำพูดที่แสดงให้เห็นว่า ท่านทราบว่าจะจากเราไป เช่น ท่านพูดว่า “ไม่รู้จะหายหรือเปล่า …. ไม่เคยเป็นอย่างนี้เลย” และท่านพูดกับบาทหลวงชูชาติ เจ้าคณะฯของท่านว่า “ขอขอบคุณที่มาเยี่ยมเป็นครั้งสุดท้าย”
วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ท่านบอกกับบาทหลวงมอริสี (พ่อแดง) ว่า “ขอให้พาพี่ชายและน้องสาวมาพบให้ได้ภายในคืนนี้” พี่ชาย น้องสาว และหลานสาวของท่าน ได้เดินทางไปพบ ท่านทันทีเมื่อลงจากเครื่องบินตามที่ท่านได้ขอร้อง ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณตี 1 เศษๆ ของวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2546 หลังจากที่ได้พูดคุยได้ประมาณ 15 นาที ต่างกล่าวลากันกลับที่พัก เพื่อจะกลับมาเยี่ยมใหม่ในวันรุ่งขึ้น เวลานั้นมี นายสมคิด (แพ็ท) ซึ่งเป็นเด็กกำพร้าของมูลนิธิฯ ได้อยู่เป็นเพื่อนท่านในคืนนั้น ท่านบอกกับแพ็ทว่า “ให้ฝากบอกกับครอบครัวของท่านว่า พ่อดีใจ และขอบคุณมากที่มาเยี่ยมพ่อและบอกเขาด้วยว่า พ่อรักเขามาก พ่อไม่ลานะลูก ให้ลูกไปนอนเถอะและให้บอกคุณพยาบาลว่า อย่าเข้ามาหาพ่อเวลาตี 4 แต่ให้เข้ามาหาพ่อเวลาตี 5 พ่อต้องการพักผ่อน”
รุ่งเช้าของวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2546 คุณพยาบาลได้เข้ามาตามที่ท่านขอและพบว่า ท่านไม่ได้หายใจด้วยตนเองแล้ว ท่านสิ้นใจอย่างสงบในเวลาประมาณ 05.00 นาฬิกา ระยะเวลา 40 กว่าปีในประเทศไทย กับอายุของท่าน 70 ปี 8 เดือน 9 วัน ชีวิตของท่านเป็นชีวิตเพื่อผู้อื่นแทบทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่เดือนสุดท้าย ชีวิตของท่านจึงเป็นชีวิตตามแบบอย่างพระคัมภีร์ที่ว่า “ไม่มีความรักใดที่ยิ่งใหญ่กว่า ผู้ที่ยอมสละชีวิตของตนเองเพื่อผู้อื่น” (ยอห์น 15:13)