ประวัติความเป็นมา
ประวัติศาสตร์ : วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา
เมื่อกว่า ๒๐ ปีที่แล้ว คุณพ่อเรย์มอน เอ เบรนนัน สงฆ์จากคณะพระมหาไถ่ ได้มีโอกาสเดินทางไปปฏิบัติภารกิจตามสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย ทำให้คุณพ่อเรย์ได้พบเห็นคนพิการที่เป็นขอทาน คนพิการที่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา ไม่มีโอกาสใด ๆ ในชีวิต มีคนสงสารมาให้ทานถึงจะมีข้าวกิน คุณพ่อเล่าให้ลูก ๆ ฟังเสมอว่าเวลาที่พ่อเห็นคนพิการขอทานแล้วเศร้าใจมาก พร้อมกับสงสัยว่าทำไมรัฐบาลไม่ช่วยคนพิการ..
“คนไทยไม่เข้าใจคนพิการ เวลาเห็นคนพิการจะสงสารและให้เงิน ๕ บาท ๑๐ บาท ซึ่งความช่วยเหลือนี้ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย คนไทยไม่เข้าใจว่ามีคนพิการเป็นแสน ๆ คนที่ขาดโอกาสเรียนหนังสือ ทำให้ไม่มีงานทำ…” นี่คือความคิดที่จุดประกายให้คุณพ่อเรย์ต้องการที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือคนพิการซึ่งถูกมองว่าเป็นขยะของสังคม
คุณพ่อเรย์มีความตั้งใจที่จะเปิดโรงเรียนอาชีวะเพื่อสอนวิชาชีพให้กับคนพิการ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๕ แต่คุณพ่อยังไม่มีความพร้อมเนื่องจากไม่รู้ว่าการเปิดโรงเรียนสอนคนพิการจะต้องทำอย่างไรบ้าง ในช่วงนั้นคุณพ่อจึงศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับคนพิการโดยขอคำปรึกษาจากสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยซึ่งในช่วงนั้นมีอาจารย์ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ เป็นนายกสมาคม
จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๒๗ คุณพ่อเรย์จึงได้เปิดโรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา เพื่อฝึกอาชีพให้แก่คนพิการทางด้านแขน ขา ลำตัว โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทำการเปิดสอนหลักสูตรคอมพิวเตอร์ระยะสั้นโดยใช้สถานที่ของศูนย์คณะพระมหาไถ่ และในสมัยนั้นใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ Apple II ในการจัดการเรียนการสอน มีนักเรียนพิการเข้ามาเรียน ๓ รุ่น รุ่นละประมาณ ๑๐ คน แต่ก่อนที่จะเริ่มโครงการนี้ได้คุณพ่อเรย์ต้องหาเงินและจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับคนพิการ มีการขยายทางเดินและประตูเพื่อรองรับคนพิการที่นั่งเก้าอี้รถเข็น (Wheelchair) ต้องปรับปรุงหอพักเพื่อให้คนพิการเข้าไปใช้งานได้ ในช่วงเริ่มต้นนี้มีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้นมากมาย เช่น ขาดวัสดุอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอน ขาดแคลนครูคอมพิวเตอร์ที่จะมาสอน ทำให้ต้องจัดการเรียนการสอนโดยมีครูเพียงท่านเดียว ถึงแม้จะมีปัญหาอุปสรรคมากมาย แต่นักเรียนพิการของคุณพ่อเรย์ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
หลังจากเปิดสอนไประยะหนึ่ง คุณพ่อเรย์มั่นใจว่างานด้านคอมพิวเตอร์เป็นงานที่เหมาะกับคนพิการ รวมทั้งงานด้านอิเล็กทรอนิกส์ (ซ่อมอุปกรณ์-เครื่องใช้ไฟฟ้า) ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเช่นกัน ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ คุณพ่อเรย์จึงได้เปิดหลักสูตรคอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ ใช้เวลาเรียน ๒ ปี และหลักสูตรอิเล็กทรอนิกส์ ใช้เวลาเรียน ๙ เดือน ขึ้นมา โดยมีนักเรียน ๔๓ คน และคุณพ่อได้สร้างอาคารเรียน ๒ ชั้นขึ้นมารองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาคารหลังดังกล่าวคือ “อาคารคุณพ่อเรย์” ที่ยังคงใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน
ปี พ.ศ.๒๕๓๑ โรงเรียนได้รับการอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นโรงเรียนการกุศลสอนด้านอาชีวศึกษาตามมาตรา ๑๕ (๒) ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) โดยมีอ.สมควร อานามนารถ ดำรงตำแหน่งครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน และในปีนี้เองนักเรียนรุ่นแรกเรียนจบการศึกษาและมีงานทำทุกคน ซึ่งการจัดหางานให้นักเรียนในช่วงแรกนี้ครูต้องเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับสถานประกอบการเพื่อส่งนักเรียนไปทำงานเอง และยังมีเหตุการณ์ที่สำคัญและเป็นเป็นเรื่องที่ได้สร้างความปลาบปลื้มใจให้คุณพ่อเรย์เป็นอย่างมาก คือการที่โรงเรียนให้โอกาสนักเรียนที่จบการศึกษาบางคนมาทำงานในตำแหน่งครูเพื่อสอนคนพิการรุ่นน้องต่อไป
หลังจากมีนักเรียนโปรแกรมเมอร์จบออกไปทำงานแล้วหลายรุ่น ซึ่งศิษย์เก่าเหล่านั้นต่างก็มีผลงานเป็นที่พึงพอใจของสถานประกอบการเป็นอย่างมาก แต่นอกจากงานด้านการเขียนโปรแกรมแล้ว โรงเรียนยังพบว่าตำแหน่งเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างสูง ปี พ.ศ.๒๕๓๓ จึงได้เปิดสอนหลักสูตรคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ใช้เวลาเรียน ๑ ปี หลักสูตรนี้จัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับการใช้งานโปรแกรมสำนักงาน ซึ่งนักเรียนที่จบหลักสูตรนี้ก็ได้รับการตอบรับจากสถานประกอบการเป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน
นอกจากการฟื้นฟูด้านการศึกษาแล้ว ในส่วนของการฟื้นฟูสภาพความพิการของนักเรียนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ โรงเรียนจึงได้มีการประสานทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลเลิดสินมาช่วยตรวจและแก้ไขความพิการให้กับนักเรียน
ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โรงเรียนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในคุณภาพของนักเรียน ในแต่ละภาคเรียนมีคนพิการมาสมัครสอบเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก คุณพ่อเรย์จึงได้สร้างอาคารเรียน ๕ ชั้น เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้คณะพระกุมารเยซู ได้ส่งแม่ชีคือ ซิสเตอร์ฟรันซิส ชูจิตต์ ผลสุวรรณ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ของโรงเรียน (มีรูปกำเนิดวีลแชร์แดนซ์)
ปี พ.ศ.๒๕๓๖ โรงเรียนได้ร่วมมือกับกรมการศึกษานอกโรงเรียนเปิดสอนหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเป็นการยกระดับวุฒิการศึกษาของนักเรียน และโรงเรียนยังได้รับนักเรียนพิการจากประเทศลาวคือนายแปง วงสะหวัน (ท้าวคำแปง) เข้ามาเรียนในหลักสูตรอิเล็กทรอนิกส์ นับว่าเป็นนักเรียนชาวต่างชาติคนแรกของโรงเรียน ซึ่งในปีต่อๆมาเราก็ได้รับนักเรียนพิการจากบังคลาเทศ กัมพูชา และพม่า จนถึงปัจจุบันรวม ๑๐ คน หลังจบการศึกษาทุกคนสามารถนำความรู้กลับไปประกอบอาชีพ บางคนกลับไปเป็นครูหรือผู้นำคนพิการในประเทศของตน
ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เริ่มใช้อาคารเรียน ๕ ชั้นในขณะที่การก่อสร้างยังไม่เสร็จเรียบร้อยดีนัก เมื่อมีอาคารหลังใหม่ทำให้โรงเรียนรับนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น ๑๑๐ คน และในช่วงนั้น การใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โรงเรียนจึงเพิ่มเนื้อหาการซ่อมคอมพิวเตอร์ในหลักสูตรอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ เพื่อรองรับงานด้านการบำรุงรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์
ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ซิสเตอร์ฟรันซิส ชูจิตต์ ผลสุวรรณ ครูใหญ่ของโรงเรียนมีปัญหาด้านสุขภาพ ต้องเข้ารับการรักษาที่กรุงเทพฯ คุณพ่อเรย์จึงเห็นควรแต่งตั้งให้ อ.สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ ครูซึ่งเป็นคนพิการและเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียน ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ซึ่งนับได้ว่าเป็นคนพิการคนแรกที่ได้เป็นครูใหญ่ของโรงเรียน และท่านยังดำรงตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน (มีรูปรถตู้โรงเรียน)
ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ โรงเรียนเปิดหลักสูตรอิเล็กทรอนิกส์ฮาร์ดแวร์ เพื่อรองรับตลาดแรงงานช่างคอมพิวเตอร์ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในช่วงนี้การดำเนินงานของโรงเรียนกำลังเป็นไปได้ด้วยดี แต่แล้วในปี พ.ศ.๒๕๔๒ ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เกิดปัญหาคนว่างงาน สถานประกอบการปลดคนงานออกจากตำแหน่ง โรงเรียนของเราก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ศิษย์เก่าบางคนถูกเลิกจ้าง โรงเรียนหางานให้นักเรียนยากมากขึ้น ทำให้โรงเรียนต้องปรับการทำงาน โดยการจัดตั้งศูนย์จัดหางานคนพิการพระมหาไถ่ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก Community Fund จากประเทศอังกฤษ ได้ทำการสร้างอาคารสำนักงานเป็นอาคาร ๓ ชั้น ตั้งอยู่ติดถนนสุขุมวิท เพื่อเป็นหน่วยงานให้บริการจัดหางานสำหรับคนพิการทุกประเภท โดยในปัจจุบันสามารถจัดหางานให้คนพิการได้กว่า ๑,๖๐๐ ตำแหน่ง นอกจากนี้เพื่อเป็นการเปิดตลาดแรงงานคนพิการให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โรงเรียนจึงได้เปิดหลักสูตรคอมพิวเตอร์กราฟิก เพิ่มอีกหนึ่งหลักสูตร
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๔ ก็ได้เปิดหลักสูตรคอมพิวเตอร์และการจัดการธุรกิจ (ภาคภาษาอังกฤษ) หลักสูตรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนตามอัธยาศัย เพื่อรองรับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และได้ลงนามความร่วมมือการจัดอาชีวศึกษาสำหรับคนพิการกับกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และในปีนี้โรงเรียนได้จัดตั้งศูนย์พระมหาไถ่เพื่อการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ เพื่อช่วยให้บริการฝึกทักษะในการใช้ชีวิตภายใต้ความพิการอย่างมีคุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพิการในระดับรุนแรง ปัจจุบันมีคนพิการได้รับบริการไปแล้วกว่า ๗๐ คน
ปี พ.ศ.๒๕๔๖ คณะศิษย์เก่าของโรงเรียนรงเรียนได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนอาชีวพระ
มหาไถ่ พัทยา ซึ่งสมาคมฯ ได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อคนพิการ อาทิเช่น โครงการอบรมเยาวชนผู้
นำคนพิการ โครงการแจกรถวีลแชร์ให้แก่คนพิการ ฯลฯ
ในช่วงปลายปี โรงเรียนได้พบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ หลังจากคุณพ่อเรย์มีอาการป่วย ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายต่อหลายครั้ง จนในที่สุดคุณพ่อเรย์ก็ได้จากพวกเราไปเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๖ และในช่
วงต้นปี พ.ศ.๒๕๔๗ เราก็ต้องสูญเสียบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่ง คือคุณพ่อแพททริก มอริสสี หรือคุณพ่อแดง ผู้อำนวยการโรงเรียนและเป็นเพื่อนที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับคุณพ่อเรย์มาโดยตลอด คุณพ่อแดงได้จากพวกเราไปด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๗ การจากไปของคุณพ่อทั้งสองท่านในเวลาไล่เลี่ยกัน ยังความเศร้าโศกเสียใจให้แก่พวกเราอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ ท่านทั้งสองจากพวกเราไป เหลือทิ้งไว้แต่คุณงามความดีและคำสอนที่ว่า “ลูกจงให้โอกาสแก่คนพิการอื่นต่อไป”
ปี พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อเป็นการขยายงานการช่วยเหลือคนพิการให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนพิการที่เป็นผู้หญิง โรงเรียนจึงได้ก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์หลังใหม่ เป็นอาคารสูง ๓ ชั้น ซึ่งจะเป็นทั้งอาคารเรียนและหอพักสำหรับนักเรียนหญิง และหากอาคารอเนกประสงค์หลังใหม่เปิดใช้งานโรงเรียนจะสามารถรับนักเรียนคนพิการที่เป็นผู้หญิงได้ถึง ๑๐๐ คน
ตลอดระยะเวลา ๒๐ ปีของการดำเนินงาน โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา สร้างสรรค์ผลงานทั้งทางด้านวิชาการ กีฬา และสังคม ออกมาอย่างต่อเนื่อง และผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกไปทำงานรับใช้สังคมแล้วกว่า ๒,๐๐๐ คน ทำให้ได้รับการยกย่องว่า “เป็นโรงเรียนฝึกอาชีพสำหรับคนพิการที่ดีที่สุดในเอเชีย” โรงเรียนแห่งนี้เกิดขึ้นได้ก็เนื่องจากวิสัยทัศน์อันยาวไกลของคุณพ่อเรย์ที่ต้องการช่วยเหลือคนพิการให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน ความสำเร็จที่ผ่านมาเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของคณะครู-เจ้าหน้าที่และนักเรียนที่ได้ช่วยกันทำให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกต่อวงการคนพิการไทยอย่างใหญ่หลวง สมกับปรัชญาของโรงเรียนที่ว่า